ประเด็นร้อน

เละ!ตรวจเงินแผ่นดิน ผู้ว่าสตง.ชงโละคตง.

โดย ACT โพสเมื่อ May 11,2017

 ไทยโพสต์ * กรรมการสรรหา คตง.ที่มีประธานศาลฎีกาเป็นประธาน เลื่อนการพิจารณาสรรหา "คตง." ออกไปไม่มีกำหนด หลังองค์กรสอบโกงงัดข้อกันเอง ผู้ว่าฯ สตง.รวบรัดรีบขอให้เลือก คตง.ชุดใหม่ ประธาน คตง.สวนกลับ ยังไม่ถึงเวลา ขู่หากดันทุรังเจอยื่นศาลรัฐธรรมนูญ!

          
เมื่อวันพุธ นายวัส ติงสมิตร ประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เปิดเผย ว่า ได้รับแจ้งจากเจ้าหน้าที่สำนักงานเลขา ธิการวุฒิสภา เมื่อช่วงเย็นวันอังคารที่ 9 พ.ค.ที่ผ่านมาว่า ขอยกเลิกการประชุมกรรม การสรรหาคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน ซึ่งเดิมได้นัดประชุมกันในวันพฤหัสบดีที่ 11 พ.ค.นี้ออกไปโดยไม่มีกำหนด
         
มีรายงานว่า การเลือกกรรมการตรวจเงินแผ่นดินดังกล่าว กำลังเกิดปัญหาความขัดแย้งกันขึ้นในองค์กรอิสระที่มีหน้าที่ตรวจสอบการทุจริตคอร์รัปชันและการใช้งบประ มาณแผ่นดิน ระหว่างนายพิศิษฐ์ ลีลาวชิโร ภาส  ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) กับคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน (คตง.) ที่นำโดยนายชัยสิทธิ์ ตราชูธรรม ประธานกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน จนทำให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างกว้างขวาง ที่ผู้ว่าฯ สตง.ที่ทำหน้าที่เลขานุการคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน กลับขัดแย้งกับ คตง.เสียเอง
          
เรื่องดังกล่าวเกิดขึ้นหลังนายพิศิษฐ์ ได้ทำหนังสือถึงสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา ว่าจากคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 23/2560 เรื่อง มาตรการแก้ไขปัญหาความต่อเนื่องของผู้ ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระตามรัฐธรรม นูญ โดยอ้างอิงว่า คำสั่งดังกล่าวให้มีการเลือก คตง.ชุดใหม่มาทำหน้าที่แทน คตง. ที่จะต้องพ้นจากตำแหน่งภายใน 180 วัน หลังคำสั่งดังกล่าวที่ออกมาเมื่อ 5 เม.ย.มีผลบังคับใช้ จึงเห็นว่าเมื่อ คตง.ชุดปัจจุบันจะพ้นจากตำแหน่งพร้อมกันหมดในวันที่ 25 ก.ย.นี้ อีกทั้งก่อนหน้านี้ก็มี คตง.ลาออกไป 2 คน คือ นายสุทธิพล ทวีชัยการ กับนายวิทยา อาคมพิทักษ์ ทำให้ คตง.ตอนนี้เหลืออยู่ 5 คน จากที่ต้องมี 7 คน จึงทำหนังสือถึงสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภาเมื่อ 24 เม.ย. ในฐานะที่สำนักงานเลขาธิการวุฒิ สภาต้องทำหน้าที่จัดให้มีการประชุมกรรม การสรรหา คตง. เพื่อวางหลักเกณฑ์และออกประกาศรับสมัคร คตง.
          
ต่อมา เลขาธิการวุฒิสภาได้ทำหนัง สือถึงองค์กรอิสระต่างๆ ให้ส่งตัวแทนมาร่วมประชุมกรรมการสรรหา คตง. ตามคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 23/2560 เรื่อง มาตรการแก้ไขปัญหาความต่อเนื่องของผู้ดำรงตำแหน่ง ในองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ ซึ่งกรรม การสรรหาดังกล่าวจะมีประธานศาลฎีกาเป็นประธานกรรมการสรรหาโดยตำแหน่ง และมีกรรมการประกอบด้วย  ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ประธานศาลปกครองสูงสุด และบุคคลซึ่งองค์กรอิสระแต่งตั้งองค์ กรละ 1 คน เป็นกรรมการ ดังนั้นเลขาธิการวุฒิสภาจึงทำหนังสือถึงนายชัยสิทธิ์ ตราชูธรรม ประธาน คตง. ในฐานะที่เป็นองค์กรอิสระ เพื่อให้ส่งคนมาเป็นกรรมการสรรหา
          
เมื่อ คตง.ทราบเรื่องดังกล่าวว่าผู้ว่าฯ สตง.ทำหนังสือถึงเลขาธิการวุฒิสภาเพื่อให้มีการเรียกประชุมกรรมการสรรหา คตง.ชุดใหม่ และมีการเลื่อนการประชุมกรรมการสรรหาจากเดิม 18 พ.ค. มาเป็น 11 พ.ค. คตง.จึงนำเรื่องนี้ไปหารือกันในที่ประชุม คตง.เมื่อ  4 พ.ค.
          
ผลการหารือดังกล่าว ทำให้ต่อมาเมื่อวันที่ 8 พ.ค. ทาง คตง.ได้ทำหนังสือด่วนที่สุดถึงเลขาธิการวุฒิสภา เพื่อแสดงความไม่เห็นด้วยกับการเรียกประชุมกรรมการสรรหา คตง.ชุดใหม่ โดยให้เหตุผลว่าจากคำสั่ง คสช.ที่ 23/2560 ซึ่งให้เลือก คตง.แทนหาก คตง.ชุดปัจจุบันหมดวาระภายใน 180 วัน โดยนับจากวันที่ออกประกาศ คสช.เมื่อ 5 เม.ย. จริงๆ แล้ว คตง.ชุดปัจจุบันจะหมดวาระ 26 ก.ย.2560 ก็ยังไม่ถือว่าพ้นจากตำแหน่งตามวาระที่ระบุไว้ในคำสั่งดังกล่าว
          
รวมถึงเรื่องคุณสมบัติของ คตง.ที่จะต้องตรงกับรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน ก็ควรจะต้องรอให้มีการประกาศใช้ พ.ร.บ.การตรวจเงินแผ่นดินฉบับใหม่ ที่กรรมการร่างรัฐธรรมนูญกำลังยกร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวเสียก่อน
          
คตง.ยังย้ำด้วยว่า การที่ สตง.กับเลขาธิการวุฒิสภาจะให้มีการประชุมกรรม การสรรหา คตง. เป็นการกระทำโดยที่ยังไม่เกิด จึงอาจต้องมีการส่งเรื่องให้ศาลรัฐ ธรรมนูญวินิจฉัย และระบุด้วยว่าหากมีการเปิดรับสมัครเลือก คตง. ก็อาจทำให้มีกรรมการตรวจเงินแผ่นดินชุดปัจจุบันบางคนลาออกไปสมัครคัดเลือก เพราะคำสั่งหัวหน้า คสช.ดังกล่าว ให้ คตง.สามารถสมัครคัดเลือกเข้ามาเป็น คตง.ได้อีก อาจทำให้การทำงานของ คตง.ต้องหยุดลง เพราะมี คตง.ไม่ถึง 5 คน ที่จะกระทบกับการตรวจเงินแผ่นดินโดยรวม
          
นอกจากนี้ ยังพบว่าประธาน คตง.ได้ส่งหนังสือดังกล่าวที่ทำถึงเลขาธิการวุฒิสภา ไปให้นายศุภชัย สมเจริญ ประธาน กกต. ที่จะต้องส่งคนมาเป็นกรรมการสรรหา คตง.ด้วย โดยระบุไว้ตอนหนึ่งว่า ทางสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินดำเนินการเรื่องดังกล่าว โดยมิได้เสนอให้คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินพิจารณาก่อน
          
ทั้งนี้ นายพิศิษฐ์ เดิมทีจะต้องพ้นจากตำแหน่งผู้ว่าฯสตง. เมื่อ10 เม.ย.ที่ผ่านมา เพราะอายุครบ 65 ปี แต่จากคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 23/2560 ทำให้มีการต่ออายุให้กับนายพิศิษฐ์ไปในตัวอีกร่วม 6 เดือน คือจะไปพ้นจากตำแหน่งในวันที่ 26 ก.ย.2560 พร้อมกับ คตง.ชุดปัจจุบัน แต่จากคำสั่งดังกล่าว คตง.ชุดปัจจุบันจะทำหน้าที่ต่อไปอีกประมาณ 60 วัน เพื่อเลือกและสรรหาผู้ว่าฯ สตง.คนใหม่ แล้วส่งชื่อไปให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติลงมติเห็นชอบ ท่ามกลางกระแสข่าวที่ออกมาว่า ผู้ว่าฯ สตง.กับ คตง.ชุดปัจจุบัน มีปัญหาเรื่องความไม่เป็นเอกภาพในการทำงานร่วมกัน.

- - สำนักข่าว ไทยโพสต์ วันที่ 11 พฤษภาคม 2560 - -
อ่านเพิ่มเติมที่ : www.thaipost.net/